พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ | |
---|---|
พระมหากษัตริย์อังกฤษ | |
ครองราชย์ | 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 – 20 มกราคม ค.ศ. 1327 |
รัชสมัย | 20 ปี |
ราชาภิเษก | 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1308 |
รัชกาลก่อนหน้า | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ |
รัชกาลถัดไป | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ |
พระราชสมภพ | 25 เมษายน ค.ศ. 1284 ปราสาทคาร์นาร์ฟอน เกว็นเน็ด เวลส์ |
สวรรคต | 21 กันยายน ค.ศ. 1327
(43 ปี) ปราสาทบาร์คลีย์ กลอสเตอร์เชอร์ อังกฤษ |
พระอัครมเหสี | อิซาเบลลาแห่งฝรั่งเศส |
พระราชบุตร | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ |
ราชวงศ์ | แพลนทาเจเน็ท |
พระราชบิดา | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ |
พระราชมารดา | เลโอนอร์แห่งกัสติยา |
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Edward II of England; 25 เมษายน ค.ศ. 1284 – 21 กันยายน ค.ศ. 1327) พระนามเดิมคือ เอ็ดเวิร์ดแห่งคายร์นาร์ฟอน (อังกฤษ: Edward of Caernarfon) เป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์แพลนทาเจเน็ทของราชอาณาจักรอังกฤษ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1284 ที่ปราสาทคาร์นาร์ฟอน เกว็นเน็ด เวลส์ เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 และ สมเด็จพระราชินีเลโอนอร์แห่งอังกฤษ ทรงเสกสมรสกับสมเด็จพระราชินีอิซาเบลลาแห่งอังกฤษ และทรงราชย์ระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 จนจนกระทั่งถูกปลดจากราชบัลลังก์เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1327 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1327 ที่ปราสาทบาร์คลีย์ กลอสเตอร์เชอร์ อังกฤษ การที่พระองค์ทรงละเลยขุนนางผู้มีอำนาจไปเข้ากับผู้ที่ทรงโปรดปรานทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและในที่สุดก็ทรงถูกปลดจากการครองราชย์และปลงพระชนม์ในที่สุด พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นฆาตกรและข้อกล่าวหาที่เป็นผู้ที่รักเพศเดียวกัน
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่ก่อตั้งวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทรงก่อตั้งวิทยาลัยคิงส์ฮอล (King's Hall) เมื่อปี ค.ศ. 1317 และวิทยาลัยโอเรียล (Oriel College) ของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดในปี ค.ศ. 1326 วิทยาลัยทั้งสองเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3พระราชโอรส ผู้ทรงพระราชทานเอกสารประกาศการก่อตั้ง (charter) ให้แก่วิทยาลัยโอเรียลอีกครั้งในปี ค.ศ. 1327 และวิทยาลัยคิงส์ฮอลอีกครั้งใน ปี ค.ศ. 1337
เจ้าชายแห่งเวลส์
[แก้]พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เป็นพระราชโอรสองค์ที่สี่ในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 และ สมเด็จพระราชินีเลโอนอร์แห่งอังกฤษพระมเหสีองค์แรก เสด็จพระราชสมภพที่ปราสาทคาร์นาร์ฟอน เกว็นเน็ด เวลส์ และเป็นเจ้าชายอังกฤษองค์แรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ซึ่งได้รับการอนุมัติเป็นทางการโดยรัฐสภาลิงคอล์นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1301
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 กลายมาเป็นรัชทายาทเมื่อพระชนมายุเพื่งได้ไม่กี่เดือนหลังจากที่อังฟองโซ เอิร์ลแห่งเชสเตอร์ พระเชษฐาสิ้นพระชนม์ พระราชบิดาทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญทรงฝึกเอ็ดเวิร์ดในยุทธิวิธีการสงครามและการปกครองด้วยพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สิ่งที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงทำในสมัยนั้นถือกันว่าเป็นงานที่ต่ำต้อยกว่าที่ควรของพระองค์
กล่าวกันว่าสาเหตุที่ทรงมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเพราะความกดดันจาการเลี้ยงดูของพระราชบิดา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ทรงร่วมเดินทางไปในการรณรงค์กับชาวสกอต แต่แม้ว่าจะทรงเข้าร่วมการสงคราม ก็มิได้ทำให้เปลื่ยนพระนิสัยที่ทรงเป็นผู้ชอบการใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ้งเฟ้อซึ่งทรงดำเนินเช่นนั้นจนตลอดพระชนมายุ[ต้องการอ้างอิง] พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงขับเพียร์ส เกฟสตัน (Piers Gaveston) ขุนนางจากแกสโคนีในฝรั่งเศสผู้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับเอ็ดเวิร์ดจากราชสำนักเมื่อเอ็ดเวิร์ดพยายามมอบตำแหน่งที่เป็นตำแหน่งสำหรับเจ้านายเท่านั้นให้กับเพียร์ส
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เสด็จสวรรคตระหว่างการเดินทางไปรณรงค์ในสงครามกับชาวสกอตอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 ก่อนที่จะสวรรคตมีพระราชโองการให้เอ็ดเวิร์ดให้ต้มร่างของพระองค์ให้เหลือแต่กระดูกและนำเดินทัพต่อจนกว่าชาวสกอตจะพ่ายแพ้ เอ็ดเวิร์ดมิได้ทรงทำตามพระราชโองการแต่นำพระราชบิดากลับไปฝังที่เวสท์มินสเตอร์แอบบี โดยมีคำจารึกว่า “นี่คือร่างของเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ผู้ปราบชาวสกอต” (Here lies Edward I, the Hammer of the Scots) (Hudson & Clark 1978:46) หลังจากนั้นเอ็ดเวิร์ดก็เรียกเพียร์ส เกฟสตันกลับมายังราชสำนัก และทรงถอยทัพกลับจากการรณรงค์สกอตแลนด์ในปีเดียวกัน
สงครามกับขุนนาง
[แก้]เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เสด็จไปโบลอยน์เซอร์แมร์ในฝรั่งเศสเพื่อเสกสมรสกับอิสซาเบลลา ทรงทิ้งให้เพียร์ส เกฟสตันพระสหายและที่ปรึกษาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนั้นก็ทรงแต่งตั้งให้เป็นเอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์และมอบมาร์กาเร็ตแห่งกลอสเตอร์พระนัดดาให้เป็นภรรยา
กลุ่มขุนนางไม่พอใจกับการกระทำของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและไม่ชอบเกฟสตัน จึงพยายามหาทางขับเกฟสตันออกจากราชสำนักโดยร่วมกันออกกฎบัตร ค.ศ. 1311 (Ordinances of 1311) ที่จำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงเรียกตัวเกฟสตันกลับ แต่ในปี ค.ศ. 1312 เกฟสตันก็ถูกสังหารโดยเอิร์ลแห่งแลงคาสเตอร์และพรรคพวกโดยกล่าวอ้างว่าเกฟสตันนำพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไปในทางที่ผิด เกฟสตันถูกไล่ตามและสังหารที่หมู่บ้านลีค วูตันซึ่งในปัจจุบันยังมีอนุสรณ์ชื่อ เกฟสตันครอสตั้งอยู่
หลังจากเกฟสตันถูกสังหารพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงพยายามทำลายผู้เป็นศัตรูต่อพระองค์ ระหว่างนั้นกลุ่มขุนนางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์ก็อ่อนตัวลง พอถึงกลางเดือนกรกฎาคม อายเมอร์ เดอ วาเล็นซ์ เอิร์ลแห่งเพ็มโบรคที่ 2 ก็ถวายคำแนะนำให้ประกาศสงครามกับขุนนาง ขุนนางผู้ที่ไม่อยากเสี่ยงชีวิตอีกต่อไปจึงยอมทำการเจรจากับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในปี ค.ศ. 1312 ในเดือนตุลาคม เอิร์ลแห่งแลงคาสเตอร์, วอริค, อารันเดล และ แฮระฟอร์ด ก็ขอพระราชทานอภัยโทษจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด
ความขัดแย้งกับสกอตแลนด์
[แก้]ในช่วงเวลานี้โรเบิร์ต บรูซ (Robert the Bruce) แห่งสกอตแลนด์ก็ได้รับชัยชนะและยึดดินแดนที่ละเล็กทีละน้อยคืนจากอังกฤษ โรเบิร์ต บรูซยึดดินแดนที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ได้ไปจากสกอตแลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1307 ถึงปี ค.ศ. 1314 กลับคืนมากกว่าที่พระองค์ยึดไป ชัยชนะของโรเบิร์ต บรูซมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่นการใช้กองกำลังย่อยดักโจมตีกองทัพอังกฤษ และยึดปราสาทต่างๆ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งหลัก นอกจากนั้นก็ยังใช้ภูมิศาสตร์ที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีเป็นอาวุธโดยใช้วิธีโจมตีอย่างรวดเร็วแล้วถอยหนีขึ้นเนินไปก่อนที่กองกำลังหนุนจะมาสมทบ โรเบิร์ต บรูซยึดปราสาททีละแห่งและรวมตระกูลต่างๆ ในสกอตแลนด์เข้าด้วยกันเพื่อต่อสู้กับอังกฤษผู้เป็นศัตรูร่วมกัน เชื่อกันว่าโรเบิร์ตเคยกล่าวว่ามีความกลัวพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ที่สวรรคตไปแล้วมากกว่าที่จะกลัวพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ที่ยังมีชีวิตอยู่ ภายในปี ค.ศ. 1314 อังกฤษก็มีปราสาทเหลือเพียงสองแห่งในบริเวณสกอตแลนด์ -- ปราสาทเสตอร์ลิง และ ปราสาทเบอร์วิค
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1314 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 และกองทัพที่มีกำลังทหารราบทั้งสิ้น 20,000 คนและทหารม้าอีกราว 2000 ถึง 3000 คนก็ยกขึ้นไปปราบการแข็งข้อที่สกอตแลนด์ กองทัพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมาพบกับกองทัพของโรเบิร์ต บรูซที่ใช้หอกยาว 14 ฟุตเป็นอาวุธ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงทราบการที่จะรักษาสกอตแลนด์ไว้ในมืออังกฤษได้ อังกฤษต้องรักษาปราสาทเสตอร์ลิง แต่ปราสาทก็ถูกล้อมอยู่เสมอ เซอร์ฟิลลิป เดอ โมว์เบรย์ แม่ทัพฝ่ายอังกฤษผู้มีหน้าที่รักษาปราสาทเสตอร์ลิงแจ้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดว่าจะยอมแพ้แก่สกอตนอกจากว่าพระองค์จะเสด็จมาช่วยป้องกันปราสาทเสตอร์ลิงภายในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1314 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ทรงสามารถที่จะยอมเสียปราสาทเสตอร์ลิงให้แก่สกอตแลนด์ได้ จึงทรงรวบรวมกองทัพใหญ่ขึ้นไปสกอตแลนด์เพื่อจะขับไล่ผู้ล้อมปราสาทเสตอร์ลิงและดึงให้ทหารสกอตออกไปต่อสู้กันกลางทุ่ง
แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงทำผิดตรงที่ทรงคิดว่าจำนวนทหารในกองทัพของพระองค์ที่มีจำนวนเหนือกว่ากองทัพของโรเบิร์ต บรูซเป็นหลายเท่าเพียงอย่างเดียวจะมีความแข็งแกร่งพอที่กำจัดโรเบิร์ต บรูซได้อย่างง่ายดายแต่ก็เป็นการคาดที่ผิด โรเบิร์ต บรูซได้เปรียบกว่าตรงที่ได้รับการเตือนล่วงหน้าถึงการเดินทัพมาสกอตแลนด์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด และทราบแม้กระทั่งว่าจะพระองค์จะมาถึงวันใด โรเบิร์ตมีเวลาพอที่จะเลือกบริเวณที่จะต่อสู้ที่จะได้เปรียบกว่าทั้งในให้ความอำนวยในกลยุทธ์และการยุทธศาสตร์ เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเดินทัพขึ้นมาถึงเส้นทางสายหลักเข้าสู่สเตอร์ลิง โรเบิร์ตวางกองกำลังขนาบสองข้างเส้นทางทางด้านเหนือ อีกกองหนึ่งในป่า และอีกกองหนึ่งตรงโค้งแม่น้ำซึ่งเป็นจุดที่กองทัพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมองเห็นได้ยาก นอกจากนั้นโรเบิร์ตก็ยังสั่งให้ขุดหลุมไว้ทั่วไปแล้วกลบด้วยใบไม้กิ่งไม้เพื่อให้เป็นอุปสรรคต่อกองทหารม้า
ฝ่ายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมิได้ทรงคิดการณ์ล่วงหน้าและเตรียมตัวการต่อสู้เช่นเดียวกับโรเบิร์ต บรูซ แม้แต่การเรียกทหารก็มิได้ทรงออกหมายเกณฑ์จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1314 ทหารของพระองค์จึงไม่มีเวลาฝึกทำและขาดวินัย ความพ่ายแพ้ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ศึกแบนน็อคเบิร์น (Battle of Bannockburn) ถือกันโดยนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยว่าเป็นการพ่ายแพ้ศึกที่ยับเยินที่สุดของอังกฤษตั้งแต่ศึกเฮสติ้งส์ (Battle of Hastings) ในปี ค.ศ. 1066 เป็นต้นมา เมื่อฝ่ายอังกฤษในขณะนั้นนำโดยพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันพ่ายแพ้ต่อฝ่ายนอร์มันที่นำโดยดยุกแห่งนอร์มังดี บางสถติประมาณกันว่าจำนวนทหาร 16,000 คน 11,000 ถูกสังหารในสงครามและเหลือเพียงไม่เท่าใดที่รอดชีวิตมาถึงพรมแดนอังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเองก็ทรงถูกพาตัวหนีจากสนามรบกลับอังกฤษ ชัยชนะของสงครามอิสรภาพของสกอตแลนด์ครั้งนี้เป็นไปอย่างเด็ดขาดแต่อังกฤษไม่ยอมรับจนกระทั่งสิบปีต่อมา
ต่อมาอังกฤษก็นำกลยุทธ์ของโรเบิร์ต บรูซไปใช้ในสงครามต่อต้านฝรั่งเศสในหลายร้อยปีต่อมา พระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษทรงใช้วิธีเช่นเดียวกันนี้ในการต่อสู้กับทหารม้าฝรั่งเศสที่ยุทธการอแกงคูร์ต (Battle of Agincourt) ในปี ค.ศ. 1415 ซึ่งทรงได้รับชัยชนะต่อฝรั่งเศส[ต้องการอ้างอิง]
“สมัยปกครอง” ของเดสเพนเซอร์
[แก้]หลังจากเพียร์ส เกฟสตันถูกสังหารพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงหันมาโปรดปรานฮิวห์ เดสเพนเซอร์ (ผู้ลูก) (Hugh Despenser the Younger) พระนัดดาผู้เป็นน้องเขยของเพียร์ส เกฟสตัน แต่ก็เช่นเดียวกับกรณีของเกฟสตัน ขุนนางไม่พึงพอใจที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไปทรงบำรุงบำเรอเดสเพนเซอร์ทั้งพ่อและลูก โดยเฉพาะกับเดสเพนเซอร์ผู้เป็นลูกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1318 เดสเพนเซอร์มีความทะเยอทะยานที่เอาตำแหน่งเอิร์ลแห่งกลอสเตอร์และที่ดินของตำแหน่งที่ตามมา
ในปี ค.ศ. 1320 สถานะการณ์ในอังกฤษคลอนแคลนจนน่าเป็นอันตรายแต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ไม่ทรงสนพระทัยกับการปกครองประเทศและทรงละเลยกฎหมายของแผ่นดิน แต่ทรงหันมาเอาใจใส่กับเดสเพนเซอร์แทนที่ เมื่อลอร์ด เดอ โบรสแห่งเกาเออร์ (Lord de Braose of Gower) ขายตำแหน่งแก่ลูกเขย เดสเพนเซอร์ก็เรียกร้องให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยกเกาเออร์ให้ตนเองแทนที่ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงยึดเกาเออร์จากผู้ซึ้อโดยผิดกฎหมายเอามาให้เดสเพนเซอร์ การกระทำครั้งนี้ทำความโกรธเคืองให้แก่กลุ่มขุนนางมากขี้น ในปี ค.ศ. 1321 เอิร์ลแห่งแฮระฟอร์ด เอิร์ลแห่งแลงคาสเตอร์ และขุนนางคนอื่นๆ ยกอาวุธขึ้นต่อสู้ครอบครัวเดสเพนเซอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงถูกบังคับให้หนุนหลังกลุ่มขุนนาง ในวันที่ 14 สิงหาคมทรงประกาศที่เวสท์มินสเตอร์ฮอลเนรเทศพ่อลูกเดสเพนเซอร์จากราชสำนัก
แต่ชัยชนะของขุนนางก็เป็นสิ่งที่ทำลายตนเองด้วย หลังจากที่สองพ่อลูกถูกเนรเทศจากราชสำนัก ขุนนางหลายคนก็แก่งแย่งกันประจบสอพลอพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเพื่อจะเอาตำแหน่งที่ว่างอยู่ เพราะความโลภขุนนางบางคนจึงเต็มใจที่จะถวายความช่วยเหลือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในการแก้แค้นกลุ่มขุนนางที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงต้องการทำร้าย ซี่งถ้าถวายความช่วยเหลือสำเร็จก็จะหมายถึงตำแหน่งและความมั่งมี ความขัดแย้งต่อมาก็ทำให้ขุนนางบางคนถูกฆาตกรรม เช่นเอิร์ลแห่งแลงคาสเตอร์ถูกตัดหัวต่อหน้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเอง
เมื่อขุนนางผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์ถูกกำจัดออกไปหมด อำนาจทั้งหลายในอังกฤษก็ตกมาเป็นของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพ่อลูกเดสเพนเซอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงออกพระราชบัญญัติที่รัฐสภายอร์คยกเลิกกฎบัตรต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านั้นที่จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ ตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่ทรงออกพระมหากษัตริย์ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐสภาอังกฤษอีกต่อไป ขุนนางและสภาสามัญชนยอมรับพระราชบัญญัติฉบับใหม่อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง อำนาจของรัฐสภาในช่วงเวลานั้นจึงจำกัดลงไปเป็นเพียงเป็นสภาที่ปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์เท่านั้น
พระราชินีอิสซาเบลลาออกจากอังกฤษ
[แก้]ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ยอมประกาศแสดงความจงรักภักดี (pay homage) ต่อกษัตริย์ฝรั่งเศสสำหรับดินแดนในแกสโคนี หลังจากความพยายามที่จะยึดแกสโคนีมาเป็นของอังกฤษหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงส่งพระราชินีอิสซาเบลลาไปเจรจาสงบศึกแทน
พระราชินีอิสซาเบลลาทรงดีพระทัยที่ได้กลับฝรั่งเศส เสด็จถึงฝรั่งเศสในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1325 นอกจากจะเสด็จไปเยี่ยมพระประยูรญาติแล้วในดินแดนที่ประสูติแล้วก็ทรงได้โอกาสหนีจากเดสเพนเซอร์และจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเองผู้ที่ทรงเกลียดอย่างจับใจ
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1325 พระราชินีอิสซาเบลลาทรงตกลงในสนธิสัญญาสงบศึกซึ่งฝรั่งเศสได้เปรียบกว่าอังกฤษซึ่งระบุว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดต้องมาแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าชาร์ลส์ในฝรั่งเศสด้วยพระองค์เอง แต่แทนที่จะทรงทำเช่นนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงส่งพระราชโอรสไปแทน การกระทำนี้เป็นผลที่นำมาสู่ความหายนะของทั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและเดสเพนเซอร์ เมื่อพระราชโอรสมาถึงฝรั่งเศสพระราชินีอิสซาเบลลาก็ทรงประกาศว่าจะไม่เสด็จกลับอังกฤษนอกจากว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะปลดเดสเพนเซอร์ออกจากราชสำนัก
การรุกรานของพระราชินีอิสซาเบลลาและมอร์ติเมอร์
[แก้]เมื่อข้าราชบริพารของพระราชินีอิสซาเบลลาผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดถูกเรียกตัวกลับและถูกพระราชินีอิสซาเบลลาส่งกลับอังกฤษ เมื่อกลับมาถึงราชสำนักอังกฤษเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1325 ก็ได้ถวายรายงานต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดว่าพระราชินีอิสซาเบลลาทรงมีความสัมพันธ์กับโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 1 ในปารีส และวางแผนที่จะรุกรานอังกฤษ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงเตรียมตัวต่อต้านผู้รุกรานแต่ทรงถูกทรยศโดยผู้ใกล้ชิดต่อพระองค์ พระราชโอรสของพระองค์เองก็ไม่ทรงยอมทิ้งพระมารดาโดยอ้างว่าไม่ทรงต้องการทิ้งพระมารดาในขณะที่ทรงเต็มไปด้วยความโทมนัส เอิร์ลแห่งเค้นท์พระอนุชาก็ไปแต่งงานกับมาร์กาเร็ต เวค (Margaret Wake) ลูกพี่ลูกน้องของมอร์ติเมอร์ ขุนนางคนอื่นเช่น จอห์น เดอ ครอมเวลล์ และ เอิร์ลแห่งริชมอนด์ ก็ละทิ้งไปเข้าข้างมอร์ติเมอร์
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1326 มอร์ติเมอร์และพระราชินีอิสซาเบลลาก็เดินทางมารุกรานอังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงประหลาดพระทัยในจำนวนทหารของพระราชินีอิสซาเบลลาเพราะทรงเตรียมกองกำลังจำนวนมากเพื่อต่อสู้ แต่กองทัพของพระองค์ก็ไม่ยอมยกอาวุธต่อสู้กับกองทัพของมอร์ติเมอร์และพระราชินีอิสซาเบลลา ในที่สุดก็พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็เสด็จหนีจากลอนดอนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมไปยังกลอสเตอร์และต่อไปทางใต้ของเวลส์เพื่อไปตั้งตัวที่บ้านของเดสเพนเซอร์ ทรงพยายามรวมกองกำลังเพื่อต่อสู้แต่ก็ไม่ทรงสามารถรวบรวมกำลังได้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ก็ทรงถูกละทิ้งโดยข้าราชบริพารทิ้งไว้กับเดสเพนเซอร์กับผู้รับใช้สองสามคน
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม เดสเพนเซอร์ผู้พ่อก็ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาต่างๆ เช่นส่งเสริมรัฐบาลที่ผิดกฎหมายของลูกชาย สร้างความร่ำรวยให้ตนเองจากทรัพย์สินของผู้อื่น และมีส่วนในการฆาตกรรมเอิร์ลแห่งแลงคาสเตอร์ เดสเพนเซอร์ถูกแขวนคอและตัดหัวที่บริสตอล เฮนรีแห่งแลงคาสเตอร์ถูกส่งไปเวลส์ไปนำตัวพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและเดสเพนเซอร์ (ผู้ลูก) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน เดสเพนเซอร์ถูกส่งตัวไปให้มอร์ติเมอร์และพระราชินีอิสซาเบลลาที่แฮระฟอร์ด ส่วนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เฮนรีนำไปกักตัวไว้ที่ปราสาทเคนนิลเวิร์ธ
การสิ้นสุดของเดสเพนเซอร์
[แก้]การแก้แค้นต่อพวกพ้องของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นไปอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น เอิร์ลแห่งอารันเดลศัตรูเก่าของมอร์ติเมอร์ถูกตัดหัวหลังจากการพิจารณาและการตัดสินของศาลและการสังหารเดสเพนเซอร์
เดสเพนเซอร์ถูกฆ่าอย่างทารุณ เริ่มด้วยการที่ผู้คนที่มาดูการสังหารดึงตัวเดสเพนเซอร์ลงจากหลังม้าเปลื้องเสื้อผ้าและสลักถ้อยคำจากไบเบิลเกี่ยวกับการไม่ควรฉ้อโกงและอื่นบนร่างกายของเดสเพนเซอร์ แล้วก็ลากตัวไปมอบให้กับโรเจอร์และพระราชินีอิสซาเบลลาและตระกูลแลงคาสเตรียน เดสเพนเซอร์ถูกตัดสินให้แขวนคอเยี่ยงโจร ตัดอวัยวะเพศทิ้ง ผ่าร่างแบ่งสี่เยี่ยงผู้เป็นกบฏต่อแผ่นดิน สึ่ส่วนที่แบ่งถูกส่งไปที่ต่างๆ ในอังกฤษ
สละราชสมบัติ
[แก้]หลังจากจำขังพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แล้วพระราชินีอิสซาเบลลาและมอร์ติเมอร์ก็มีปัญหาว่าจะทำเช่นใดกับพระองค์ วิธีที่ง่ายที่สุดคือปลงพระชนม์ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ก็จะตกไปเป็นของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดซึ่งพระราชินีอิสซาเบลลาทรงสามารถควบคุมได้ และเป็นการป้องกันการกู้ราชบัลลังก์คืนแก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไปด้วยในตัว แต่คำสั่งการปลงพระชนม์ต้องมาจากการพิจารณาคดีและการตัดสินของศาลว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นกบฏ แม้ว่าขุนนางจะเห็นพ้องกันว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ทรงใส่ใจในการปกครองบ้านเมือง แต่ขุนนางบางคนให้ข้อคิดเห็นว่าในเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงไม่สามารถถูกปลดหรือถูกตัดสินให้ประหารชีวิตทางนิตินัยได้ ถ้าทำเช่นนั้นพระเจ้าก็จะลงโทษประเทศ การตัดสินจึงเป็นที่ตกลงกันว่าจะจำขังพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพแทนที่
แต่การจำขังพระองค์ก็ยังทำให้มีปัญหาตรงที่พระราชอำนาจตามนิตินัยก็ยังอยู่ที่พระองค์ พระราชินีอิสซาเบลลาทรงได้รับตราแผ่นดิน (Great Seal) และทรงใช้ตรานั้นในการปกครองในนามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ในนามของพระองค์เอง และในนามของพระโอรสแล้วแต่ความเหมาะสม แต่อย่างใดก็ตามการปกครองเช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นการเปิดช่องให้มีผู้ท้าท้ายถึงความถูกต้องตามกฎหมายได้
สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้รัฐสภาตัดสินใจเรียกประชุมสภาสามัญชนเพื่อมาเจรจาตัดสินกันว่าควรจะทำอย่างไรกับสถานะการณ์ที่เป็นอยู่ อัครบาทหลวงแห่งยอร์คและสมาชิกบางคนออกตัวว่ากลัวกลุ่มชนชาวลอนดอนที่จงรักภักดีต่อมอร์ติเมอร์ บางคนก็ต้องการจะให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีพระราชดำรัสประกาศการสละราชสมต่อรัฐสภาโดยตรงแทนที่จะทรงถูกปลดจากราชบัลลังก์โดยพระราชินีอิสซาเบลลาและผู้มีอำนาจอื่นๆ ในขณะนั้น มอร์ติเมอร์ตอบโต้โดยสั่งให้ริชาร์ด เดอ โบฮุนนายกเทศมนตรีลอนดอนขณะนั้นเขียนจดหมายถึงรัฐสภาขอให้รัฐสภาคุ้มครองพระราชินีอิสซาเบลลาและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และให้ปลดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจากราชบัลลังก์ นอกจากนั้นมอร์ติเมอร์ก็ยังเรียกประชุมขุนนางอย่างลับๆ ในคืนเดียวกัน ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องต้องกันในการปลดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจากราชบัลลังก์
ในที่สุดรัฐสภาก็มีมติในการถอดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจากราชบัลลังก์ แม้ว่ารัฐสภาจะเห็นพ้องกันว่าพระองค์ไม่ควรมีอำนาจใดๆ ในการปกครอง แต่ก็ยังมิได้ปลดอย่างเป็นทางการเพียงแต่มีมติเท่านั้นและให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นผู้ตัดสินพระทัยในการยอมรับมติของรัฐสภา
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1327 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงได้รับแจ้งที่ปราสาทเคนนิลเวิร์ธถึงมติของรัฐสภาและข้อกล่าวหาต่างที่มีต่อพระองค์ ข้อกล่าวหารวมทั้ง: ไม่ทรงมีสมรรถภาพในการปกครองโดยการที่ทรงอนุญาตให้ผู้อื่นมาปกครองแทนพระองค์ซึ่งทำให้มีผลเสียหายต่อประชาชนและสถาบันศาสนา; ไม่ทรงฟังคำแนะนำที่ดีและทำตามคำแนะนำที่ทำให้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่เหมาะสม; ทรงเสียดินแดนสกอตแลนด์, แกสโคนี และ ไอร์แลนด์เพราะไม่ทรงมีความสามารถทางการปกครองที่จะรักษาดินแดนเหล่านั้นไว้ได้; ทรงสร้างความเสียหายต่อสถาบันโรมันคาทอลิกและทรงจำขังผู้แทนของศาสนา; ทรงอนุญาตให้ขุนนางถูกฆาตกรรม, ยึดทรัพย์, จำขัง และ เนรเทศ; ไม่ทรงมีความยุติธรรมและยังทรงปกครองโดยเอาผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมและอนุญาตให้ผู้อื่นกระทำเช่นเดียวกัน; และทรงหลบหนีไปกับผู้มีความผิดต่างๆ ต่อราชอาณาจักรโดยทิ้งราชอาณาจักรไว้ให้ว่างลงโดยปราศจากรัฐบาลซึ่งเป็นผลทำให้ประชาชนหมดความเชื่อมั่นและความศรัทธาในรัฐบาล พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงคาดไม่ถึงถึงความรุนแรงของข้อกล่าวหาต่างๆ และผลการตัดสินทรงกันแสงไปในขณะที่ทรงฟัง เมื่อเสร็จจากการอ่านข้อกล่าวหา รัฐบาลก็ยื่นข้อแนะนำให้ทรงเลือกระหว่าการสละราชสมบัติให้กับพระราชโอรส หรือ ปฏิเสธข้อกล่าวหาและสละราชสมบัติให้กับผู้ใดผู้หนึ่งที่ไม่ใช่พระญาติแต่มีประสบการณ์ในการปกครองซึ่งในกรณีนี้ก็คงจะหมายถึงมอร์ติเมอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงสละราชสมบัติให้กับพระราชโอรส เซอร์วิลเลียม ทรัสส์เซลผู้เป็นตัวแทนรัฐสภาจึงประกาศแทนรัฐสภายกเลิกความจงรักภักดีต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด รัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 จึงสิ้นสุดลง
การสละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการที่ลอนดอนเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1327 วันต่อมาจึงเป็นวันแรกของรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ ผู้มีพระชนมพรรษา 14 ปีและเป็นผู้ที่ยังถูกควบคุมโดยพระราชินีอิซาเบลลาและมอร์ติเมอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เองก็ยังทรงถูกจำขัง
สวรรคต
[แก้]รัฐบาลของพระราชินีอิสซาเบลลาและมอร์ติเมอร์อยู่ในสภาพที่ง่อนแง่นจนไม่กล้าที่จะทิ้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ไว้กับศัตรูทางการเมือง เมื่อวันที่ 3 เมษายน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ทรงถูกย้ายจากปราสาทเคนนิลเวิร์ธไปอยู่ในความดูแลของคนของมอร์ติเมอร์ ต่อมาก็ทรงถูกย้ายไปจำขังที่ปราสาทบาร์คลีย์ ในมลฑลกลอสเตอร์เชอร์ ซึ่งเชื่อกันโดยทั่วไปว่าเป็นที่ที่ทรงถูกปลงพระชนม์โดยคนของพระราชินีอิสซาเบลลาและมอร์ติเมอร์
ความสงสัยอันนี้ต่อมาได้รับการขยายความต่อมาโดยเซอร์ทอมัส มัวร์:
- “คืนวันที่ 11 ตุลาคมขณะที่ทรงนอนอยู่ก็ทรงถูกจับตรึงกับแท่นบรรทมและกดทับด้วยที่นอน ทำให้ไม่ทรงหายพระทัยได้ ขณะที่ (ผู้ที่มาทำการ) เอาท่อนเหล็กเผาไฟ สอดเข้าไปในท่อในบริเวณที่ลับของพระวรกายของพระองค์ เพื่อให้เผาภายในร่างกายที่เลยไปจากลำใส้ใหญ่”
การฆ่าด้วยวิธีนี้ทำให้ดูเหมือนผู้ตายตายตามธรรมชาติเพราะผู้ทำจะสอดท่อนเหล็กก่อนที่จะใช้ท่อนเหล็กร้อนสวนลึกเข้าไปในร่างกายจึงทำให้ไม่เห็นรอยไหม้จากภายนอก
ตามคำกล่าวของนอร์มัน เอฟ แคนทอร์: [1]
- “การกระทำที่ทารุณเช่นนี้เป็นผลจากปฏิกิริยาบางส่วนของสถาบันศาสนาและผู้มีอิทธิพลทางความคิดเห็นเรื่องการรักเพศเดียวกัน ต่อการที่ทรงมีความโปรดปรานคนรักชาวฝรั่งเศสของพระองค์ และยังเป็นปฏิกิริยาต่อความไม่พึงพอใจ, ความโกรธ และความการหมดอาลัยตายอยากต่างๆ”
เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการสวรรคตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ไม่มีหลักฐานสนับสนุนจากข้อเขียนใดๆ จากคริสต์ศตวรรที่ 14 หลักฐานที่ใกล้เคียงที่สุดก็เป็นบันทึกของแอดัม เมอริมัธที่กล่าวว่าความเชื่อส่วนใหญ่เกี่ยวกับสาเหตุการสวรรคตคือทรงถูกกลั้นลมหายใจให้ตาย บันทึกลิทชฟิลด์กล่าวว่าทรงถูกบีบคอ บันทึกอื่นๆ กล่าวว่าเสด็จสวรรคตเป็นไปตามธรรมชาติ จนกระทั่งกลางคริสต์ทศศตวรรษ 1330 จึงได้มีข่าวลือเรื่องท่อนเหล็กกันเป็นที่แพร่หลาย ในพระราชประวัติของพระราชินีอิสซาเบลลาที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์แอลิสัน เวียร์ (Alison Weir) เวียร์เสนอทฤษฏีใหม่ที่อ้างจาก “จดหมายฟิเอสชิ” (Fieschi Letter) ซึ่งเป็นจดหมายโดย มานูเอล เดอ ฟิเอสชิ พระชาวเจนัวถึงพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ราวปี ค.ศ. 1337 โดยกล่าวว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 มิได้ทรงถูกปลงพระชนม์แต่ทรงหนีจากการคุมขัง และมีพระชนม์อยู่ต่อมาอย่างผู้หนีภัยจนเสด็จสวรรคต เอียน มอร์ติเมอร์ในพระราชประวัติพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ยืนยันว่า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ทรงมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกอย่างน้อยสิบเอ็ดปีหลังจากปี ค.ศ. 1327 ที่เชื่อกันว่าเป็นปีที่สวรรคต และไปเสด็จสวรรคตเอาที่ประเทศอิตาลี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Norman F. Cantor, In the Wake of the Plague, p. 75 “ก่อนหน้าโรคระบาด”
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เอ็ดเวิร์ดที่ 1 | กษัตริย์แห่งอังกฤษ (ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท) (ค.ศ. 1307 – ค.ศ. 1327) |
เอ็ดเวิร์ดที่ 3 |
- บทความที่ขาดแหล่งอ้างอิงเฉพาะส่วนตั้งแต่November 2007
- บทความที่ขาดแหล่งอ้างอิงเฉพาะส่วนตั้งแต่December 2007
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 1827
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 1870
- พระมหากษัตริย์อังกฤษ
- บุคคลจากเทศมณฑลกวินเนดด์
- ราชวงศ์แพลนแทเจอนิต
- พระมหากษัตริย์ที่ถูกปลงพระชนม์
- ชาวอังกฤษเชื้อสายฝรั่งเศส
- เจ้าชายแห่งเวลส์
- ดยุกแห่งอากีแตน